เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงหรือจป.เทคนิคขั้นสูง (จป.ส.) เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยหน้าที่เฉพาะตามกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานบุคลากรหน่วยงานหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการพ.ศ. 2565 มีหน้าที่ดูแลงานด้านความปลอดภัยในการทำงานโดยเฉพาะซึ่งได้มีการกำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ไว้อย่างชัดเจนวันนี้เราจะมาดูรายละเอียดเกี่ยวกับจป.เทคนิคขั้นสูงว่ามีอะไรบ้างต้องเรียนอะไรและต้องทำอะไร
โดยสถานประกอบกิจการตามบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจำนวน 50 คนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 100 คนต้องจัดให้ลูกจ้างที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดอย่างน้อย 1 คนเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานเฉพาะระดับเทคนิคขั้นสูงเพื่อทำหน้าที่ประจำสถานประกอบกิจการภายใน 180 วันนับแต่วันที่มีลูกจ้างครบจำนวนตามที่กล่าวไปข้างต้นซึ่งสามารถดูประเภทของสถานประกอบกิจการตามบัญชี 2 ได้จากกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานบุคลากรหน่วยงานหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการพ.ศ. 2565
จป.เทคนิคขั้นสูง ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
จป.เทคนิคขั้นสูง ได้มีการกำหนดระดับการศึกษาเอาไว้หากผู้ใดต้องการทำงานเป็น จป.เทคนิคขั้นสูงจะต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิคหรือเทียบเท่า และต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง และต้องผ่านการประเมินด้วย หรือหากไม่ได้สำเร็จการศึกษาตามข้างต้น ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือเทียบเท่า และ ได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงและผ่านการประเมินแต่หากไม่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวไป
ข้างต้นก็สามารถตรวจดูคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อ 18 ของกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565
เมื่อตรวจสอบดูแล้วว่ามีคุณสมบัติสามารถเป็น จป.เทคนิคขั้นสูงได้ ขั้นตอนต่อไปคือการแต่งตั้งจากสถานประกอบกิจการ แล้วแจ้งชื่อเพื่อขึ้นทะเบียนกับสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ โดยมีรายละเอียดตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การแจ้งการขึ้นทะเบียน การพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน และผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย และเมื่อแจ้งขึ้นทะเบียนแล้วจะได้รับเลขทะเบียน จป. และเมื่อขึ้นทะเบียนเป็น จป.เทคนิคขั้นสูงประจำสถานประกอบกิจการใดแล้วจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนซ้ำในสถานประกอบกิจการอื่นได้ จะต้องแจ้งออกจากสถานประกอบกิจการเดิมก่อน
จป.เทคนิคขั้นสูงมีหน้าที่อะไร
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงมีหน้าที่ 9 ข้อ เช่นเดิมเหมือนที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง
กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 ซึ่งปัจจุบันได้ถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 โดย จป.เทคนิคขั้นสูง มีหน้าที่หลักคือดูแลงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน เช่น
- ตรวจสอบและเสนอแนะให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- วิเคราะห์งานเพื่อชี้บ่งอันตรายและกำหนดมาตรการป้องกันและขั้นตอนการทำงานอย่างปลอดภัยเสนอต่อนายจ้าง
- แนะนำให้ลูกจ้างปฏิบัติตามข้อบังคับและคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
- แนะนำ ฝึกสอน และอบรมลูกจ้าง เพื่อให้การปฏิบัติงานปลอดจากเหตุอันจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน
- ตรวจสอบหาสาเหตุและวิเคราะห์การประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงาน และรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา
ซึ่งหน้าที่ของจป.เทคนิคขั้นสูงกำหนดไว้ในข้อ 19 ของกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานบุคลากรหน่วยงานหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการพ.ศ. 2565 และจป.เทคนิคขั้นสูงจะต้องมีการฝึกอบรมหรือการพัฒนาความรู้ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อปีตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่องการฝึกอบรมหรือการพัฒนาความรู้ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคระดับเทคนิคขั้นสูงและระดับวิชาชีพเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานเพิ่มเติม
สรุป
จป.เทคนิคขั้นสูง เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยหน้าที่เฉพาะ มีหน้าที่ 9 ข้อ ตามกฎหมายกำหนด ซึ่งเมื่อมีการขึ้นทะเบียนเป็น จป.เทคนิคขั้นสูงแล้วจะต้องส่งรายงานผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง 2 ครั้ง ครั้งแรกภายใน 30 วันนับจากวันที่ 30 มิถุนายน และครั้งที่ 2 ภายใน 30 วันนับจากวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ตามแบบฟอร์มที่กำหนดในประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แบบรายงานผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ตามกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การแจ้งการขึ้นทะเบียน การพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน และผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การฝึกอบรมหรือการพัฒนาความรู้ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานเพิ่มเติม